วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่าง กองทุนกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่มีต่อชาวราชทัณฑ์และต่อกระทรวงยุติธรรม และพระมหากรุณาธิคุณอีกประการ โดยทรงนำบทเรียนที่ดีที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับเด็กติดผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ และการเข้าใจถึงทุกข์ยากของผู้หญิง ที่ต้องรับโทษจำคุก ณ ทัณฑสถานหญิงกลางแห่งนี้ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงในมิติต่างๆ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปีเศษ อีกทั้งมีเรือนจำในโครงการกำลังใจฯ ที่ทรงช่วยหลือไปแล้ว 28 แห่ง ตลอดจนการนำเสนอในเวทีต่างประเทศ และต่อมาเวทีของสหประชาชาติ ได้ให้การยอมรับในแนวทางดังกล่าวในชื่อของ Bangkok Rules หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กับผู้ต้องขังหญิงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
และในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบ แนวทางและแผนงานการจัดฝึกอบรมวิชาชีพในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจฯ การจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง การสำรวจความต้องการอาชีพของผู้ต้องขัง การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรมวิชาชีพ การจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะที่จำเป็น เพื่อยกระดับความรู้ให้แก่ผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ตลอดจนการสนับสนุน และร่วมมือด้านบุคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน เอกสาร ตำราอาคาร สถานที่ ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว
โดยกรมราชทัณฑ์ จะขอน้อมนำ Model ที่เกิดขึ้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือและผ่านการติดตามประเมินผลแล้วไปปรับใช้ในเรือนจำต่างๆ ทั้งประเทศ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลงงานราชทัณฑ์ ในอีกมิติหนึ่งของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ภายใต้นโยบาย 8 มิติ โดยหนึ่งในมิติดังกล่าว คือ การขับเคลื่อนโครงการพระราชทาน พร้อมที่จะทำหน้าที่ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อกลับคืนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ของสังคมต่อไป